ซีสต์ที่รังไข่...อันตรายแค่ไหน
เรื่องภายในของคุณผู้หญิงเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจและหมั่นตรวจเช็คสุขภาพเป็นประจำ โดยเฉพาะซีสต์รังไข่ไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะบางครั้งอาจไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า รู้ตัวอีกทีก็อาจส่งผลกระทบกับร่างกายไปมากแล้ว ดังนั้นการเข้าใจเรื่องซีสต์รังไข่และหมั่นสังเกตตนเองจึงเป็นหนทางของการป้องกันและรับมือได้อย่างถูกวิธี
ต้นเหตุของซีสต์รังไข่
ซีสต์มีลักษณะเป็นถุงที่เต็มไปด้วยของเหลว ซึ่งสามารถก่อตัวขึ้นได้ในรังไข่ เมื่อเกิดการตกไข่ผิดปกติจะทำให้เกิดการคั่ง มีถุงน้ำในรังไข่หรือไข่ไม่ตก ทำให้เกิดเป็นถุงน้ำขนาดเล็กในรังไข่ทั้งสองข้าง หรือมีการแบ่งเซลล์ในรังไข่ที่ผิดปกติไป ทำให้รังไข่มีโอกาสเกิดซีสต์ที่รังไข่ได้บ่อยกว่าอวัยวะอื่นๆ หากพบในคนอายุน้อยมักจะเป็นซีสต์ปกติที่หายได้ แต่ถ้าพบในคนวัยใกล้หมดประจำเดือนอาจเป็นซีสต์ผิดปกติที่มีโอกาสเป็นหรือไม่เป็นมะเร็งได้
สัญญาณเตือน…ที่ควรรีบพบแพทย์
- ปวดท้องน้อย
- ปัสสาวะบ่อยขึ้นหรือปัสสาวะลำบาก
- มีอาการหน่วงๆ ท้องน้อย หรือปวดท้องน้อยเฉียบพลัน
- เจ็บหรือปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
- มีประจำเดือนผิดปกติ คือ มามาก มากระปริบกระปรอย ปวดประจำเดือนมากขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละเดือน
ส่วนใหญ่ซีสต์ที่รังไข่ระยะแรกๆ ผู้หญิงส่วนใหญ่จะไม่รู้ตัวและจะไม่มีสัญญาณเตือนหรือมีอาการใด ๆ กว่าจะรู้ตัวก็ต่อเมื่อก้อนใหญ่และเกิดภาวะแทรกซ้อนไปแล้ว ถึงแม้โรคนี้ไม่ใช่มะเร็งร้ายแต่ก็สามารถก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและก่อให้เกิดอันตรายได้ ดังนั้นควรให้ความสนใจหากมีอาการผิดปกติ ควรพบสูติ-นรีแพทย์ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงและทำการรักษา
การตรวจวินิจฉัยซีสต์รังไข่
วิธีการตรวจวินิจฉัยด้วยการใช้อัลตราซาวด์เพื่อดูอวัยวะในอุ้งเชิงกราน โดยสามารถตรวจได้ 2 วิธีคือ ตรวจผ่านทางหน้าท้องหรือตรวจผ่านทางช่องคลอด ใช้เวลาไม่นานและไม่รู้สึกเจ็บปวด ที่สำคัญคือบอกขนาด รูปร่าง ตำแหน่ง และจำนวนได้อย่างละเอียด ทำให้แพทย์วินิจฉัยได้อย่างตรงจุดชัดเจนและสามารถวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
หมดกังวลกับซีสต์รังไข่
ปัจจุบันการรักษาซีสต์รังไข่สามารถทำได้โดยการผ่าตัดส่องกล้อง (Laparoscopic Surgery) ซึ่งข้อดีของวิธีการผ่าตัดแบบนี้คือ ช่วยให้แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว ภาวะแทรกซ้อนต่ำ สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ การหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายและอย่าละเลยการตรวจภายในเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้งกับสูติ-นรีแพทย์ในผู้ที่ยังไม่เคยเป็นและสำหรับผู้ที่เคยเป็นซีสต์รังไข่แล้ว แนะนำให้พบสูติ-นรีแพทย์ทุก 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี เพื่อจะได้รับมือได้อย่างทันท่วงที
สนับสนุนข้อมูลโดย : นาวาเอก นพ. วิศรุฒน์ เชิดชูไทย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูติศาสตร์ - นรีเวชวิทยา
โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745